คำคม “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” อ่านสามก๊กแล้วมองชีวิตจริง

คำคม “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” อ่านสามก๊กแล้วมองชีวิตจริง
คำคม “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” อ่านสามก๊กแล้วมองชีวิตจริง

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำคมจากสำนวนจีนที่ว่า “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” ผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะใครที่ชอบดูหนังจีนหรือซีรีส์จีนแนวย้อนยุคก็น่าจะต้องได้ยินจนชินเลยก็ว่าได้ แต่รู้หรือไม่รู้ว่าสำนวนดังกล่าวมีที่มาอย่างไร และสามารถประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อสมัยนี้เขาไม่ได้รบกันด้วยดาบหรือธนูอีกต่อไปแล้ว ซึ่งวันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

ก่อนจะไปมองชีวิตในยุคปัจจุบัน เราลองมาดูที่มาของสำนวนนี้กันหน่อย โดยสำนวนนี้มีที่มาจาก “สามก๊ก” ตอนที่ “เล่าปี่” ออกแสวงหากุนซือที่จะมาช่วยวางแผนคิดกลศึกเพื่อต่อกรกับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง “โจโฉ” จนไปได้ตัว “ขงเบ้ง” กุนซือผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทรที่เรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นหูกันดีมาร่วมงานด้วย แต่ด้วยความที่ขงเบ้งยังหนุ่มแน่นอายุแค่ 27-28 ปี เท่านั้น ก็เลยทำให้น้องรักของเล่าปี่อย่าง “กวนอู” กับ “เตียวหุย” ไม่เชื่อมือเท่าไหร่ แถมยังคอยกวนโอ้ย ไม่ให้ความเคารพขงเบ้งอีกต่างหาก จนกระทั่งโจโฉส่งกองทัพมาตีเล่าปี่ ก็ได้ขงเบ้งคอยวางแผนคิดกลศึกจนช่วยให้เล่าปี่เอาชนะกองทัพโจโฉได้โดยที่ตัวขงเบ้งยังนั่งกระดิกเท้าชิล ๆ อยู่ในกระโจม ไม่ได้ออกรบเองเลยแม้แต่น้อย ทำให้กวนอูกับเตียวหุยยอมซูฮกขงเบ้งด้วยใจจริงนับตั้งแต่นั้น จนแม้แต่เล่าปี่ยังยกย่องกุนซือหนุ่มไฟแรงผู้นี้ว่า “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” นั่นเอง

ดังนั้น คำคมหรือสำนวนนี้จึงเปรียบถึงคนที่มีความรู้ความสามารถที่คอยทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง คอยวางแผน คิดนโยบาย เพื่อให้ลูกน้องหรือคนที่มีหน้าที่ลุยภาคสนามรับไปปฏิบัติอีกทีหนึ่ง ดูเผิน ๆ แล้วบางคนคิดว่าเป็นงานที่สบาย นั่งอยู่ห้องแอร์รอเข้าประชุม แถมยังมีหน้ามีตาในสังคมอีกด้วย แต่ความจริงแล้ว คนที่จะรับหน้าที่นี้ได้ต้องมีความรู้ความสามารถในงานนั้น ๆ อย่างท่องแท้ สามารถนำทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาเพื่อพลิกแพลงใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม มีความละเอียดรอบคอบในการสั่งงานลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน และต้องมีความรับผิดชอบสูงไม่ต่างจากคนที่ทำงานด้านปฏิบัติ เพราะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงแทบทั้งหมด หากเกิดความผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามแผนก็มักจะต้องรับผิดไปคนเดียวเต็ม ๆ

ฉะนั้น หากคุณรู้ตัวว่าคุณเป็นคนมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้วล่ะก็ ขอให้ดูขงเบ้งเป็นตัวอย่าง สมัยที่ยังไม่ได้มารับราชการกับเล่าปี่ เขาก็ไม่ได้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บ้านไปวัน ๆ แต่หมั่นศึกษาหาความรู้ ขัดเกลาทักษะด้านต่าง ๆ ของตัวเองจนเชี่ยวชาญ เมื่อได้มารับราชการกับเล่าปี่ จึงสามารถใช้วิชาการความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยให้องค์กรของเจ้านายประสบความสำเร็จจนถูกยกย่องว่าเป็นผู้ “วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้” นั่นเอง